“The camera is an instrument that teaches people how to see without a camera.”

Dorothea Lange "โลกทั้งใบ ไม่ได้สวยงามในทุกเรื่อง… แต่ก็ไม่น่าชิงชัง เกินกว่า "ชีวิต" จะค้นพบ "ความสุข" จากบางแง่มุม…" >> โอ๋ อิ่มเอม

วิถีไร่หมุนเวียน – จำยอมและดิ้นรน

23 พฤษภาคม 2551
เรื่องโดย อัจฉรา รักยุติธรรม

http://www.localtalk2004.com/

……………………………………………………………………………

 

 

ความย่อ : 

ไร่หมุนเวียน ระบบการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะปกากะญอ นั้นมีการสืบทอดความรู้การเพาะปลูกที่กลมกลืนกับป่าโดยรอบ ปัจจุบันถูกกล่าวหาเป็นแพะรับบาปกรณีปัญหาหมอกควันในเมืองเชียงใหม่ และการลดพื้นที่ป่าในภาคเหนือ แรงกดดันจากสังคมและกรมป่าไม้พยายามลดพื้นที่ไร่หมุนเวียน โดยไม่คำนึงถึงทางเลือกของเกษตรกรกรบนที่สูงว่าจะดำรงวิถีชีวิต และการพึ่งพาตัวเองได้อยางไร ขณะที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาแรงกระหน่ำจากเกษตรเชิงเดี่ยว อย่างเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้บ่อนเซาะทำลายระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนอย่างไม่อาจหวนคืนได้

ยาฆ่าหญ้ามันแพงขึ้น เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลหรือเปล่า?พะตีชิด ถามฉันในระหว่างสับสันเหล็กลงบนดินนุ่มๆ หลังฝนตก

ปีนี้ชาวบ้านหลายคนบ่นคล้ายๆ กันว่ายาฆ่าหญ้าทุกยี่ห้อแพงขึ้นเป็นเท่าตัวจากแกลลอนละสามร้อยกว่าบาทเป็นแกลลอนละเกือบหกร้อย

เขาลดความเข้มข้นลงหรือเปล่า ทำไมพ่นไปสองรอบเสียเงินเปล่าๆ ดูสิหญ้ายังเขียวอยู่เลยชาวบ้านอีกคนที่กำลังหยอดเมล็ดข้าวโพดสามเมล็ดใส่หลุมชี้ให้ดูรอบๆ

ไร่แห่งนี้อยู่ในทำเลดี ที่ดินค่อนข้างราบ ไม่ไกลถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ฤดูเก็บเกี่ยวปีที่แล้วรถโม่ข้าวโพดของพ่อค้าเข้ามาได้จนถึงกลางไร่ โม่เอาแต่เมล็ดใส่กระสอบออกไป ส่วนซังข้าวโพดยังทิ้งไว้ให้เห็นเกลื่อนกลาด

เมื่อไม่ใช่ไร่หมุนเวียน
กี่ปีแล้วไม่รู้ที่ที่ดินแห่งนี้ถูกใช้ปลูกพืชติดต่อกันมา ยิ่งใช้ที่ดินซ้ำๆ วัชพืชก็ยิ่งเกิดขึ้นหนาแน่ เรื่องนี้คนทำไร่หมุนเวียนรู้ดี ไม่มีใครอยากทำไร่ซ้ำที่เดิมทุกๆ ปี แต่ตั้งแต่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเจ้าหน้าที่เข้มงวดเรื่องการใช้ที่ดินมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านจัดสรรที่ดินทำกินกันใหม่ครัวเรือนละไม่เกิน 3 แปลง แปลงละ 2-6 ไร่
ในแต่ละปีครัวเรือนหนึ่งๆ ไม่มีแรงงานมากพอจะทำไร่ในที่ดินทั้ง 3 แปลงเพราะแต่ก่อนก็ทำเพียงปีละแปลงเดียว ปล่อยแปลงที่เหลืออีก 5-6 แปลงไว้เป็นไร่เหล่าให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ที่ดินไร่เหล่ายึดหลักสิทธิการใช้ใครจะมาขอใช้ไร่เหล่าทำการเพาะปลูกก็ได้หากเจ้าของไม่ได้ใช้ในปีที่ที่ดินพร้อมและเหมาะสมสำหรับทำไร่
ตามหลักการฟันไร่เพื่อทำไร่หมุนเวียนแบบปกากะญอ นั้นว่ากันว่าควรจะเหลือตอไม้ไว้ไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตรเพื่อให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่พักดินให้เป็นเหล่าในระยะ 2-7 ปี พอกลับมาทำไร่อีกครั้งเศษไม้ต่างๆ จากการฟันไร่จะถูกเผาเป็นปุ๋ยสำหรับพืชพรรณที่จะปลูก
ปัจจุบันไม่มีใครกล้าปล่อยที่ดินให้กลายเป็นไร่เหล่าอีกต่อไป แค่จะฟันไร่ให้เหลือตอไม้ระดับเอวยังกลัวว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะมองว่าเป็นการถางป่าทำไร่ จึงพยายามถางไร่ทุกแปลงทุกปี ถางไว้อย่างนั้นทั้งๆ ที่บางทีไม่ได้ปลูกอะไร เปิดหน้าดินให้โล่งๆ เอาไว้เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะได้ไม่คิดว่านั่นคือป่า
แต่การใช้ที่ดินซ้ำๆ หรือเปิดหน้าดินต่อเนื่องแบบนั้นทำให้ผืนดินไม่มีโอกาสสะสมธาตุอาหารตามธรรมชาติ ตอไม้ที่เคยเหลือทิ้งไว้ไม่มีโอกาสแตกกิ่งก้าน ในที่สุดก็ตายไปและถูกกำจัดจนไม่เหลือตอ กระนั้นก็ตาม ในปี 2547 ยังมีชาวบ้านถูกจับดำเนินคดีเพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้บังเอิญผ่านมาตอนทำไร่ อ้างว่าชาวบ้านรุกป่า พบตอไม้ใหม่ ทั้งๆ ที่ที่ดินใช้มาเป็นสิบๆ ปี มีต้นมะม่วงอายุเกินสิบปีปลูกอยู่ดาษดื่น
  

“ยา” (พิษ) ฆ่าหญ้า สมัยก่อนทำไร่ข้าวฤดูหนึ่งถอนหญ้าแค่สองรอบก็พอ สารเคมีอะไรก็ไม่ต้องใช้ แต่ทุกวันนี้เมื่อเผาไร่เสร็จแล้ว ต้องพ่นยาฆ่าหญ้าซ้ำหนึ่งถึงสองรอบ พอข้าวงอกได้ราวหนึ่งฟุตก็จะถอนหญ้าต้นสูงๆ ออก แล้วพ่นยาฆ่าหญ้าตามเพื่อกำจัดหญ้าต้นเล็กๆ ชาวบ้านบอกว่าถ้าไม่ถอนหญ้าต้นสูงออกก่อนหญ้าต้นเล็กๆ ที่ถูกหญ้าต้นใหญ่คลุมเอาไว้จะไม่ถูกยาที่พ่น สักหน่อยก็จะโตขึ้นมาแข่งกับต้นอีกข้าวอีก เปลืองยาพ่นเสียเปล่าๆ

ไกลโพเสด อาร์มี่ กรัมมอกโซน ราวด์อัพ ฯลฯ เป็นชื่อ ยาหลายขนานที่ชาวบ้านใช้กำจัดวัชพืชในระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมา แต่เหมือนว่ายิ่งใช้ ยาเหล่านี้อาการกลับยิ่งทรุดหนักลงทุกที ทั้งค่ายาที่แพงขึ้นทุกปี ทั้งอาการดื้อยาของวัชพืชที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งต้องเพิ่มปริมาณ นอกจากผลผลิตจะไม่ได้ดีขึ้นตามที่คาดหมายแล้ว สุขภาพร่างกายของชาวบ้านเองก็ย่ำแย่ลงไปด้วย

เมื่อวานไปลากสายยางพ่นยา กลับมาทั้งเจ็บตา ทั้งแสบคอ ปวดเมื่อยไปหมดโส่แบเล่าอาการหลังจากไปช่วยสามีพ่นยาฆ่าหญ้า ปกติการพ่นยาฆ่าเป็นงานของผู้ชายเพราะเป็นงานหนักและอันตราย แม้แต่การแลกเปลี่ยนแรงงานก็จะนับว่าการไปช่วยพ่นยาจะต้องตอบแทนแรงงานด้วยการพ่นยาเท่านั้น แต่หากตอบแทนแรงงานด้วยการทำงานแบบอื่นจะต้องทำงานคืนสองแรง

แม้จะรู้ว่ายามีพิษแต่การจัดหาหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันร่างกายในขณะพ่นยาก็เป็นเรื่องเกินกำลัง เท่าที่เห็นชาวบ้านสวมใส่เพียงเสื้อแขนยาวบางๆ และมีผ้าบางๆ ปิดจมูกเท่านั้น บางคนถึงกับเปิดหน้าพ่นยาเสียเฉยๆ ตอนเที่ยงก็พักกินข้าวกันตรงบริเวณที่พ่นยานั่นเอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมชาวบ้านหมู่บ้านนี้ถึงเจ็บป่วยวิ่งเข้าออกโรงพยาบาลกันไม่ว่างเว้น

ทางเลือกที่ตีบตัน
ทั้งถอนหญ้าและพ่นยาฆ่าหญ้าไปด้วยก็ยังกำจัดหญ้าไม่ค่อยจะทัน ผลผลิตข้าวไร่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ใช้พันธุ์ข้าวหนึ่งถังในพื้นที่ประมาณหนึ่งไร่ อย่างเก่งก็ได้ผลผลิตไม่เกินสามสิบถัง บางรายที่แย่ก็อาจจะได้แค่สิบถังกว่าๆ เท่านั้นเอง ขณะที่ปีหนึ่งๆ แต่ละคนกินข้าวเฉลี่ยประมาณ 35 ถัง
พืชอาหารในไร่ข้าวก็ไม่หลงเหลือเพราะถูกยาฆ่าหญ้าทำลายไปหมด ช่วงหลังๆ มาชาวบ้านก็เลยไม่ได้ผสมเมล็ดพืชพรรณปลูกลงไปพร้อมข้าวไร่ บางรายแก้ปัญหาด้วยการพยายามกันพื้นที่ส่วนเล็กๆ ไว้ปลูกพืชอาหารให้พอมีฟัก แตง ถั่ว ฯลฯ ไว้กินบ้าง แต่ในชุมชนก็เหลือเมล็ดพันธุ์น้อยเต็มที
ชาวบ้านหลายคนเปลี่ยนจากการทำไร่หมุนเวียนที่ปลูกข้าวผสมผสานกับพืชอาหารมาเป็นพืชเศรษฐกิจแทนจะได้พ่นยาฆ่าหญ้าเต็มที่ เพราะสู้ทนถอนหญ้าไม่ไหว
ปีนี้จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้ามากกว่าทุกปี เขาไม่ให้เราเผาไร่ บอกว่าจะทำให้เกิดหมอกควันในเมืองเชียงใหม่ ไม่ให้เผาไร่ แล้วถ้าไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าอีก จะปลูกข้าวกินได้อย่างไรพี่อัมพรยืนยันเสียงแข็งเมื่อถูกถามให้ลดใช้ยาฆ่าหญ้า ทางเลือกของคนปลูกข้าวกินดูจะตีบตันลงทุกที ขณะที่พวกเขากลายเป็นจำเลยของสารพัดปัญหาไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า หมอกควัน มลภาวะต่างๆ ทั้งๆ ที่หมู่บ้านเองก็อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงเกือบร้อยกิโลเมตร        

ทำไมต้องข้าวโพด
ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์อย่างดีตัดผ่านหมู่บ้านเมื่อ 5-6 ปีก่อนทำให้เจ้าหน้าที่เข้ามาไล่จับชาวบ้านเป็นว่าเล่น ในช่วงที่ทำไร่ชาวบ้านจึงต้องระวังระไว จะฟัน จะถาง จะเผา ไร่แต่ละทีก็ต้องลุ้นกันตลอดเวลา ด้วยถนนสายเดียวกัน พ่อค้าก็เข้ามาสะดวกขึ้นเหมือนกัน
ความจำเป็นต้องมีเงินสดจับจ่ายตามภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน การถูกจำกัดการใช้ที่ดิน การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้แบบเดิม ผลผลิตข้าวตกต่ำ พืชอาหารลดน้อย วัชพืชหนาแน่น เหล่านี้เป็นความจำเป็นที่ทำให้ชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือนหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนการทำไร่ข้าวแบบหมุนเวียน
ถ้าไม่ปลูกข้าวโพดและไม่ แปะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมาพร้อมกันไหนเลยเขาจะให้ แปะยาฆ่าหญ้า ลำพังเงินสดที่จะใช้จับจ่ายในแต่ละวันยังไม่มีจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อยาฆ่าหญ้า แล้วถ้าไม่มียาฆ่าหญ้าจะปลูกข้าวกินได้อย่างไร?
มีตัวเลขคร่าวๆ ว่าชุมชนขนาดสี่สิบครัวเรือนแห่งนี้ แปะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและยาฆ่าหญ้าจากพ่อค้ารายเดียวถึงปีละสองแสนกว่าบาท นั่นยังไม่นับรวมยอดหนี้ที่มีการ แปะพ่อค้าคนอื่นๆ และยอดหนี้กองทุนต่างๆ อีก เช่น หนี้เงินล้าน หนี้ กขคจ. หนี้กองบุญข้าว หนี้กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ ตกเฉลี่ยครัวเรือนละสองหมื่นบาทขึ้นไป เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องปลูกข้าวโพดหาเงินมาใช้หนี้ และเมื่อปลูกข้าวโพดก็ทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีกจากการ แปะวัตถุดิบ กลายเป็นวัฏจักรวนเวียนไม่รู้จบสิ้น

ชีวิตนอกประเด็น
ในภาวะวิกฤติพลังงานและอาหารทุกวันนี้ นักสิ่งแวดล้อมจำนวนมากเป็นห่วงเป็นใยกันว่าการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการผลิตเอทธานอลนั้นจะเป็นตัวการสำคัญในการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารและสภาวะแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่สูงของประเทศไทย  

แต่สำหรับชาวบ้านในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ชีวิตของเขามีเรื่องใหญ่กว่านั้นให้ต้องขบคิด ค่ายาฆ่าหญ้า ค่าเมล็ดพันธุ์ หนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้นทุกปี ค่ารักษาพยาบาลร่างกายที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ผลผลิตข้าวที่น้อยลงเรื่อยๆ ค่าเล่าเรียน อนาคตของลูกหลาน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้กลับอยู่นอกสายตานักสิ่งแวดล้อม

การที่ชาวบ้านต้องวิ่งลนลานหนีเจ้าหน้าที่ป่าไม้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะรัฐไม่รับรองสิทธิที่มั่นคงในที่ดินทำกินให้พวกเขา และวันหนึ่งพวกเขาอาจถูกขับไล่ออกจากพื้นที่จนไม่มีที่ซุกหัวนอน เรื่องเหล่านี้ก็ดูจะอยู่นอกประเด็นข้อถกเถียงเรื่องพื้นที่ผลิตอาหารกับพื้นที่ผลิตพืชพลังงานของโลกที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้  
  
ชะตากรรมของคนในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ดูจะเป็นเรื่องเล็กเกินไปสำหรับความสนใจของชาวโลก

3 comments on “วิถีไร่หมุนเวียน – จำยอมและดิ้นรน

  1. ธุลีดิน
    พฤษภาคม 23, 2008

    พูดถึงสารเคมีกับงานเกษตรแล้วให้หงุดหงิดใจขอรับ
    ปล่อยให้สารพิษไปอยู่ในมือชาวบ้าน
    ..
    ..
    เฮ้อ..ขืนบ่นเดี๋ยวยาวววว
    ข้าพเจ้าโฟกัสลงมาเฉพาะลมหายใจแลปากท้องตนแล้วเทียวนา..
    ..
    ..
    คารวะ

  2. nongmai
    พฤษภาคม 23, 2008

    ไม่รู้นะว่ามีคอเดี่ยวกันด้วย
    ………………
    เราก็ไม่ชอบสารเคมี………….
    ………….
    และมีความคิดที่อยากให้คนไทยทำเกษตรอินทรีย์
    คุณคน………………..
    ลูกเกษตรนี้นะ

  3. imaim
    พฤษภาคม 24, 2008

    โหลเทสต์! ๆ
    …ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยมชม และชื่นชอบเกษตรอินทรีย์

    ++++++++++++++++++++++++++++

    ไม่แน่ใจว่าประโยคสองบรรทัดล่าง………………………………..

    หมายความว่าเช่นไร?

    >> คุณคน………………..

    >> ถ้าหมายถึงผมเป็นคนเชียงใหม่…ล่ะก็? ก็คงเริ่มๆเป็นแล้วล่ะ…

    แต่ถ้าพื้นเพเดิมจริงๆก็เป็นคนภูเก็ตครับ…

    <>ถ้าหมายถึง เป็นลูกเกษตรกร? ล่ะก็…
    บ้านผม(ที่ภูเก็ต)เป็นครอบครัวค้าขายครับ…ขายข้าวแกง อ่ะครับ

    ตอนนี้กำลังหัดศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์อยู่…หวังว่าสักวัน เรื่องนี้จะเป็นที่แพร่หลายในสักวัน…หวังเช่นนั้น!

    ……………………………………..

    ถ้าสนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติม ก็เข้าไปดูได้ที่
    http://imaimgreen.wordpress.com นะครับ

ใส่ความเห็น