“The camera is an instrument that teaches people how to see without a camera.”

Dorothea Lange "โลกทั้งใบ ไม่ได้สวยงามในทุกเรื่อง… แต่ก็ไม่น่าชิงชัง เกินกว่า "ชีวิต" จะค้นพบ "ความสุข" จากบางแง่มุม…" >> โอ๋ อิ่มเอม

“ความสำคัญของการอ่านกับปัญหาการศึกษาไทย”

โดย อาจารย์นิธิ  เอียวศรีวงศ์
ระหว่างวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2552  ณ บ้านลูกท้อรีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่
จัดโดย  ห้องสมุดเยาวชนหนองควาย

เรียบเรียงโดย โดย ฝ่ายสารสนเทศ มูลนิธิรักษ์เด็ก http://www.rakdek.or.th

1385_nt1_1

ห้องสมุดเยาวชนหนองควายได้จัดเสวนาหัวข้อนี้ขึ้น ในงานประชุม-เสวนาห้องสมุดเยาวชนหนองควาย โดยมีผู้เข้า
ร่วมแลกเปลี่ยนดังนี้ ห้องสมุดเยาวชนหนองควาย  มูลนิธิรักษ์เด็ก  อันไดการละคร  CIA-Creative Idea of Art  
ภาคีคนฮักเจียงใหม่ มะขามป้อม Rabbithood และนักเขียนอิสระ

จากการเสวนาผมใคร่ขอตัดเอาเฉพาะบางส่วนในการเสวนา คือในช่วงที่ท่าน อ.นิธิ ได้บรรยายไว้ ดังนี้นะครับ

 

ความสำคัญของการอ่านกับการศึกษา” ขอสรุปว่า รู้กันดีอยู่แล้วทุกคน ว่าระบบการศึกษาของไทยนั้นไม่ค่อยได้สนใจและไม่ได้มีการส่งเสริมเรื่องการอ่านเท่าใดนัก ทีนี้ปัญหาไม่อยู่ตรงที่ว่า เราต้องไปส่งเสริมการอ่านให้อยู่ในการศึกษา หรือการผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติอะไรก็แล้วแต่เหมือนที่ทำกันอยู่ในเวลานี้แล้วมันจะแก้ปัญหาได้  โดยส่วนตัวผมออกจะสงสัยว่า ปัญหาเรื่องการอ่านในการศึกษานี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราอ่านหรือไม่อ่าน หรืออ่านมากอ่านน้อย แต่มันอยู่ที่ว่าตัวกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาของไทยนี้  มันขัดขวางการอ่าน มันไม่ส่งเสริมให้อ่านโดยตัวมันเอง เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะไปทำการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่ามันยากมาก ๆ เลย เรากำลังอยู่ในงานที่ผมคิดว่ามันยาก หรือจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมก็ได้ แต่วัฒนธรรมก็กว้างมาก

ผมอยากจะพูดถึงเฉพาะลงลึกไปเลยว่าตัวกระบวนการเรียนรู้นี้มันมีอุปสรรคยังไงกับการอ่าน ทีนี้เพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องนี้ ผมอยากจะเริ่มต้นก่อนว่า จริง ๆ แล้วการอ่านมันเป็นสื่อชนิดหนึ่งในการศึกษาหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ การอ่านนี่ เป็นสื่ออย่างหนึ่ง การเล่าก็เป็นสื่ออีกอย่างหนึ่ง การสนทนา ก็เป็นสื่ออีกอย่างหนึ่ง ทีวี ดูหนัง ดูละคร ก็ล้วนแต่เป็นสื่อ ซึ่งสามารถเอามาใช้กับการศึกษาได้ทั้งนั้น การอ่านก็เป็นสื่ออีกชนิดหนึ่ง แต่บังเอิญว่าการอ่านมันเป็นสื่อที่มีลักษณะพิเศษ ที่ไม่เหมือนการเล่า การสนทนา ทีวี ละคร เพลง แต่ละอย่างก็มีคุณลักษณะของมันแตกต่างกันไปและแต่ละอย่างล้วนมีข้อจำกัดและข้อดีของตัวเอง ซึ่งไม่สามารถเอาสื่อชนิดหนึ่งมาแทนอีกชนิดหนึ่งได้

ทีนี้  การอ่านมันคืออะไร  ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องที่ว่าการอ่านมันคืออะไรมันค่อนข้างจะยุ่งยากอยู่ซักหน่อย มันเริ่มต้นจากนักภาษาศาสตร์คนหนึ่งชาวสวิตเซอร์แลนด์  เขามีความเห็นอย่างนี้เวลาที่เราเรียนภาษาทั้งหลาย เรามักนึกว่าภาษามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ภาษาคือเราตั้งชื่อ เช่นเป็นต้นว่า เราตั้งชื่อไอ้ตัวที่มันงอกขึ้นมาจากดินแล้วมีใบเขียว ๆ นี้ว่า “ต้นไม้” แล้วเราทุกคนก็ตกลงร่วมกันว่าเราจะเรียกไอ้ที่งอกจากดิน ใบเขียว ๆ นี้เรียกมันว่า “ต้นไม้”

เพราะฉะนั้นภาษาก็จะเต็มไปด้วยชื่อสมมุติที่แต่ละเผ่าพันธุ์ตั้งขึ้นมา แล้วเราก็สามารถสื่อความกันได้ ตั้งชื่อของกิริยา ตั้งชื่อของสิ่งของ ตั้งชื่อของความรู้สึก ตั้งชื่อของสิ่งต่าง ๆ นานา นี่ก็เป็นทฤษฎีภาษาซึ่งมีมานานแล้ว ทีนี้นักภาษาศาสตร์คนที่พูดถึงนี้ เขาบอกว่าความจริงแล้วมันไม่ใช่ ไอ้ชื่อทั้งหลายที่เราตั้งขึ้นนี้ จริง ๆ แล้วเราอาจจะแบ่งออกได้เป็นอย่างนี้คือ “สิ่งที่ถูกหมายถึงว่า” สิ่งนั้น เช่น ต้นไม้นี่คือสิ่งที่ถูกหมายถึง แล้วก็มีเสียง ๆ หนึ่งที่เป็นผู้หมายว่าไอ้นี่คือไอ้นั้น แล้วเค้าบอกว่าไอ้ทั้งสองอย่างนี้มันไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างที่นักภาษาศาสตร์รุ่นก่อนพูดว่า ต้นไม้หมายถึงไอ้นี่

เราจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ถูกหมายถึงนั้น เกิดจากการที่แต่ละคนเป็นคนคิดขึ้นมาเอง เช่น พอพูดว่าต้นไม้ทุกคนคิดถึงอะไรที่ไม่เหมือนกันเลย บางคนคิดถึงต้นไม้ใหญ่ บางคนคิดถึงแค่ต้นหญ้า  ตรงความหมายที่เราหมายถึง ต่างคนต่างสร้างต่างคนต่างคิดขึ้นมาจากประสบการณ์ จากอคติ จากอะไรก็แล้วแต่ทั้งหมด

ฉะนั้น  ในการอ่าน หรือการใช้ภาษาในการเล่า การฟังหรืออะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านเราแต่ละคนจึงสร้างความหมายให้แก่สิ่งที่เราอ่านเอง  ถามว่าทฤษฎีนี้เอาไปใช้กับการเล่า กับทีวีได้ไหม  ได้แต่ไม่มีอะไรเกินการอ่านเพราะมันเงียบ  ในการสนทนากัน พอบอกว่าต้นไม้แล้วผมก็ชี้ไปที่ต้นไม้ ต้นหนึ่ง โอกาสที่คุณจะไปนึกถึงความหมายอื่นนอกจากต้นไม้ที่ผมชี้มันก็นึกลำบาก แต่ในการอ่านไม่มีใครเป็นคนชี้ เราเป็นคนนึกขึ้นมาเอง ไม่ทราบว่าเคยได้ยินคำว่า “นักเขียนตายแล้ว” หรือเปล่า 

นักเขียนตายแล้ว ในความหมายที่ผมพูดถึงหมายถึง การที่คุณอ่านงานเขียนของใครก็แล้วแต่ เช่นงานเขียนของคุณ ‘รงค์ วงศ์สวรรค์ แล้วคิดว่าคุณ ‘รงค์ เก่งจริง ๆ เลยที่เขียนสิ่งเหล่านี้มาให้คุณ ท่านเป็นที่มีความคิดสร้างสรรค์เหลือเกิน เปล่าเขาบอกไม่ใช่ ตรงที่คุณคิดว่าสร้างสรรค์ ที่คุณคิดว่าดีเหลือเกินนั้น มันเกิดจากการที่คุณคิดเองทั้งนั้น มันจะตรงกับที่คุณ ‘รงค์ คิดหรือเปล่านั้นก็ไม่สำคัญ และที่สำคัญเราก็ไม่มีทางรู้ว่าคุณ ‘รงค์ คิดอะไร

คุณต้องเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง สิ่งนี้ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา การเล่านิทานเมื่อไหร่ที่เราใช้ภาษา  เราไม่สามารถจะเอาความหมายของเรายัดเข้าไปใส่หู ในหัวของคนอื่นได้ เราได้แต่ให้อะไรที่กว้าง ๆ ลอย ๆ เบลอ ๆ แล้วคนรับสารเป็นคนสร้างความหมายขึ้นมาเอง มันใช้ได้กับทุกเรื่องกับสื่อทุกชนิดถ้าต้องผ่านภาษา จริง ๆ เวลานี้นักวิชาการพูดเลยจากภาษาไปถึงภาพ ทุกอย่างหมดไปถึงบรรยากาศ ถึงทุกอย่างหมด  เราเข้ามาในรีสอร์ทมันมีความหมายที่สื่อให้เราโดยไม่ได้ผ่านภาษามากเลย แต่ละคนก็รับภาษาและสร้างความหมายขึ้นมาเอง เช่น  ดอกไม้ที่เห็น แต่ละคนก็จะให้ความหมายกับสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาจึงบอกว่านักเขียนมันตายแล้ว และในบรรดาการใช้ภาษาทั้งหมดนี่ ไม่มีอะไรเกินการอ่านที่คุณจะต้องเป็นผู้สร้างความหมายเอง มากยิ่งกว่าสื่อทุกชนิดที่ใช้ในการศึกษา 

children_tree

นี่คือประการที่หนึ่งในการอ่าน คือ คุณต้องสร้างความหมายเองและในการสร้างความหมายเองนั้น จริง ๆ แล้วนั้นคุณสร้างตรรกะเองด้วย หนังสือทั้งเล่ม หนังสือทั้งบทความ หนังสือทั้งหน้า มันสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่างบรรทัดที่หนึ่งและบรรทัดสุดท้าย ผู้เขียนก็มีตรรกะของตัวเองอย่างหนึ่ง เราผู้อ่านก็มีตรรกะของตัวเองอีกอย่างหนึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกัน แล้วก็ทำให้เราได้ความหมายของสิ่งนั้นแตกต่างกันออกไป 

ผมคิดว่า  พวกคุณก็เคยเจอประสบการณ์อย่างนี้อยู่บ่อย ๆ หมายความว่า คุณกำลังพูดถึงสิ่งหนึ่งออกมา อาจจะเป็นสีดำ แล้วผู้ฟังบอกว่าเห็นด้วยหมดทุกอย่างเลย แล้วก็พูดเสริมมา แต่ความจริงสิ่งที่เขาพูดนั้นมันมันคือสีขาว เพราะเขาเข้าใจสิ่งที่เราพูดจากตรรกะคนละอย่างกัน

ผมจะขอเล่าเรื่องส่วนตัวก็ได้  ผมไปแสดงปาฐกถาเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของสุนทรภู่ ซึ่งผมก็พยายามจะวิจารณ์ว่าความจริงแล้วท่านก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นหลอก ต่าง ๆ นานา   ก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งนั่งฟังอยู่ตลอด ตั้งแต่ต้นจนจบ พอผมลงมาจากเวทีแกก็เข้ามาแสดงความยินดี ว่าดีมากเลยที่ผมอุตส่าห์พูดถึงเรื่องสุนทรภู่เพราะสุนทรภู่นั้นเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ มโหฬาร  อะไรต่าง ๆ นานา แล้วคนก็ไม่ค่อยพูดถึงสุนทรภู่แล้วในสมัยนี้  คือแกก็ฟังในสิ่งที่เราพูด แต่ความเข้าใจของแกเกี่ยวกับสุนทรภู่ที่เราเสนอโดยอาศัยตรรกะของเรานั้น มันไม่ได้ทะลุเข้าไปในหูของแก แกก็ยังอาศัยตรรกะอันเก่าของแกนั่นแหละที่มาเข้าใจสุนทรภู่อย่างเก่า แล้วก็มานึกว่าเรามานั่งสรรเสริญสุนทรภู่เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง แล้วแกก็รู้สึกดีใจเพราะแกรักสุนทรภู่แล้วแกก็อยากให้ทุกคนมีความรักสุนทรภู่เหมือนกับแก อะไรอย่างนี้เป็นต้น

การสร้างตรรกะให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่เป็นหัวใจของการศึกษา เลยก็ว่าได้ สิ่งนั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่สามารถทำให้ผ่านมาได้โดยสื่อชนิดใดทั้งสิ้น แต่เป็นสิ่งที่เราต้องเป็นผู้สร้างให้กับตัวเองแล้วจริง ๆ แล้ว ต่างคนต่างสร้างที่ไม่ค่อยจะตรงกันเท่าไหร่นักด้วย สร้างตรรกะเอง สร้างความหมายเอง สร้างความเข้าใจเอาเองด้วย 

โดยสรุปก็คือว่า ถ้าเราเริ่มจากการสร้างความหมายเอง สร้างตรรกะเอง สร้างความเข้าใจเอง ซึ่งผมคิดว่าสื่อในการศึกษาอะไรก็ตาม ก็ไม่สำคัญที่จะสร้างสามอย่างนี้ได้ ดีเท่ากับการอ่าน ก็คือเรามีความสามารถในการสร้างความรู้เอง

คือเราเรียนอะไรก็แล้วแต่ เพราะเรามีเหตุที่แตกต่างจากผู้สอน เพราะเรามีตรรกะไม่เหมือนกับผู้สอน เพราะเรามีความหมายซึ่งแตกต่างจากผู้สอน มันก่อให้โอกาสขึ้นอันหนึ่งในการที่จะทำให้เราพบว่าตรงนี้ยังไม่มีความรู้นี่หว่า  ตรงนี้เป็นความรู้ที่ผิดนี่หว่า ทำให้เราสามารถสร้างความรู้ขึ้นใหม่เองได้ และผมคิดว่าการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับอนุบาลขึ้นไปจนถึงมหาวิทยาลัย หัวใจสำคัญทั้งหมดมันอยู่ที่สามสี่อย่างที่พูดไปแล้ว ไม่ใช่อยู่ที่การรู้ข้อมูล ข้อมูลไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ข้อมูลเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดถึงกันได้ง่าย แต่ข้อมูลเฉย ๆ มันไม่มีความหมาย

คุณต้องเอาข้อมูลมันมาสัมพันธ์กันมาบวกกัน จนกระทั้งทำให้พบว่ามันมีผลลัพธ์เป็นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก ไอ้นั้นคือตัวความรู้  ฉะนั้นความรู้นี่คือ มันจึงเกิดจากการที่คุณสามารถสร้างความหมายเองจากข้อมูลอันเดียวกันได้ สามารถสร้างตรรกะได้เอง สามารถสร้างความเข้าใจได้เอง จึงจะสามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ โดยสรุปก็คือว่า ผมคิดว่ามันไม่มีการรับสื่ออะไรที่เหมือนกับการอ่าน   มันเป็นสื่อของมันโดนเฉพาะที่ให้ความสามารถสามสี่อย่างที่ว่านี่ มากกว่าสื่ออื่น ๆ จริง ๆ สื่ออื่น ๆก็ให้เหมือนกันแต่ให้ไม่มากเท่ากับการอ่าน เพราะในการอ่านนั้นคุณต้องกระทำกับตัวเองคนเดียว มันไม่มีการโต้ตอบ มันไม่มีการดึงความสนใจ มันยากมากในการจะดึงคุณออกไปสู่การยอมจำนนต่อสิ่งที่เขาทำมาให้แก่คุณ เพราะมันต้องการสิ่งแวดล้อมเฉพาะชนิดหนึ่งถึงจะอ่านได้ มันไม่เหมือนกับการเอาทีวีมาฉายให้ดู เอาหนังมาฉายให้ดู ในห้องเรียนเลยมันไม่เหมือนกัน 

เหตุดังนั้น เพราะการอ่านมันน่ากลัวอย่างนี้ คือมันทำให้คนกบฏ มันทำให้คนคิดเองได้  มันทำให้คนแตกต่างจากสิ่งที่ถูกสอนได้ การอ่านจึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในการศึกษาไทย ผมคิดว่าที่เขาให้อ่านน้อยนั้น ผมพบว่าการเรียนการสอนในประเทศไทยจนถึงจบมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการอ่านน้อยมาก  คือเมื่อเปรียบเทียบกับที่ไหนในโลกก็แล้วแต่ 

การอ่านเป็นเรื่องที่ใหญ่  แต่ในการศึกษาไทยให้อ่านน้อยมาก และด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่ามันไม่ใช่เพราะ ว่าเราไม่ศรัทธาต่อการอ่าน แต่ผมสงสัยว่าลึก ๆ ลงไปแล้ว  เราระแวงการอ่าน เรากลัวการอ่าน ถ้านักเรียนอ่านมาก ๆ นักเรียนจะคิดอะไรที่ไม่เหมือนกันกับครูและนี่คือเหตุผลที่ทำไมข้อสอบในประเทศไทย พอหลังจากที่นำข้อสอบปรนัยมามันถึงได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว เพราะข้อสอบปรนัยเท่านั้นที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถคิดเองได้ คือมันมีให้เลือกสี่ถึงห้าข้อและมีถูกข้อเดียว และถ้าคุณเห็นว่าข้อที่มันผิด ถูก คุณติ๊กผิดที่  คุณก็ไม่รู้จะไปอธิบายที่ไหน ว่าทำไมคุณถึงติ๊กตรงนี้ ซึ่งมันอาจจะผิดก็ได้ แต่ตรรกะมันดีกว่ามันเป็นความเข้าใจใหม่ ซึ่งน่าจะได้ A+ ยิ่งกว่าคนที่ติ๊กถูกอีกก็ได้ เพราะว่าคุณสามารถคิดอะไรบางอย่างที่มันแหกออกไปได้

ฉะนั้น  ในการศึกษาของไทยนั้นที่บอกว่าให้เด็กคิดเป็นทำเป็นนั้น  ไอ้คิดเป็นนั้นมันคิดยากมาก เพราะว่าเริ่มต้นก็คือว่า  ไม่ว่าคุณจะใช้เวลาในการจดบันทึก ใช้เวลาสอนซักกี่ชั่วโมงต่อปีก็ตามแต่ ยังไง ๆ ข้อมูลที่ให้แก่นักเรียนมันก็น้อยกว่าการอ่านอยู่นั่งเอง มันไม่มีทางเทียบกัน สิ่งที่เขาสอน ๆกันอยู่ในมหาวิทยาลัย จริง ๆ แล้วประกอบด้วยหนังสือไม่เกินเล่มนึง  อาจจะประมาณร้อยหน้าด้วยซ้ำไป

จริง ๆ ความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นประกอบด้วยข้อมูลมากกว่านั้นไม่รู้กี่เท่าตัว แต่เมื่อคุณไม่อ่าน คุณก็ได้เฉพาะข้อมูลที่ครูบอกให้คุณรู้เอาไว้ หรืออ่านหนังสือประกอบหนึ่งเล่มที่ครูสั่งเอาไว้ ซึ่งผลก็คือข้อมูลคุณน้อยเกินกว่าคุณจะคิดอะไรเองได้เอง ที่บอกว่าคิดเป็นทำเป็น มันเป็นไปไม่ได้หลอกถ้าข้อมูลที่มีในมือเรามีน้อยขนาดนี้ เพราะเวลาที่ครูสอนเขาไม่ได้ให้ข้อมูลเฉย ๆ เขาให้ข้อมูลพร้อมทั้งข้อสรุปบางอย่างไปแล้ว

ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีข้อมูลมากกว่านั้นคุณจะสรุปแตกต่างจากนั้นก็ย่อมไม่ได้ อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว จึงคิดเองยังทำไม่ได้ตราบที่เรามีข้อมูลน้อย  แล้วผมคิดว่าไม่มีการให้ข้อมูลอะไรที่ทำได้มากในเวลาอันสั้นยิ่งไปกว่าการอ่าน 

นอกจากนั้นแล้ว  เมื่อข้อมูลน้อยอ่านน้อยเช่นนี้ คุณก็แตกแขนงความคิดไม่ได้ ก็อย่างที่บอกว่าคุณไม่สามารถสรุปให้แตกต่างจากนั้นได้ ความรู้ที่ได้มาก็แตกแขนงไม่ได้  ความคิดริเริ่มในการศึกษาไทยเป็นสิ่งที่เกือบจะไม่ค่อยมีเลยก็ว่าได้ เราเรียนหนังสือมาขนาดไหนก็แล้วแต่เราคิดอะไรที่นอกครูไปไม่ได้ เราคิดริเริ่มให้แตกต่างไม่ได้เพราะว่าข้อมูลเราน้อยเกินไป

เพราะฉะนั้น  การคิดเองทำเองนั้นมันจึงยาก เพราะว่าเราไม่ได้ให้โอกาสแก่เด็ก ในการที่จะสะสมข้อมูลมากขึ้น ให้ความหมายแก่ข้อมูลด้วยตนเองและอื่น ๆ ร้อยแปด ทั้งหมดเหล่านี้  ผมคิดว่ามันฝังอยู่ในตัวระบบการศึกษาของไทย ไอ้การรังเกียจการอ่านไม่ใช่เป็นแต่เพียงเพราะว่าเราไม่มีนิสัยรักการอ่านอย่างเดียว เพราะถ้าตราบเท่าที่เรายังดำเนินการศึกษาในลักษณะแบบนี้ การอ่านเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและอาจจะน่ากลัวด้วยที่จะปล่อยให้เด็กอ่านหนังสือมาก ๆ ด้วย

ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน ผมออกจะสงสัยว่าเราจะสามารถผลักดันส่งเสริมการอ่านเข้าไปในโรงเรียนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าถ้าเด็กอ่านมากนัก แล้วเด็กเริ่มถามปัญหาที่ครูรู้สึกอึดอัด เด็กคนนั้นก็จะถูกลงทัณฑ์ เริ่มเป็นที่รังเกียจของครู จนทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองด้อยในห้องเรียน ในความสัมพันธ์กับครู ก็เลยทำให้เขาหมดกำลังใจที่จะอ่านหนังสือในอะไรร้อยแปด  

เพราะฉะนั้น  ผมคิดว่าต้องคิดถึงกิจกรรมอะไรที่มัน มันไม่ผูกกับโรงเรียนมากเกินไป ในการส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้นผมคิดไม่ออกหลอก  คิดในรูปนี้มากขึ้นในการสร้างกิจกรรมให้มากขึ้น  ที่จะทำให้เด็กได้อ่านมากขึ้น แทนที่จะพยายามไปผูกมัดกับโรงเรียน แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้ปฏิเสธนะครับถ้าคุณสามารถทำให้ครูในโรงเรียนเห็นคุณค่าของการอ่าน แล้วสามารถผูกกิจกรรมการอ่านเข้ากับโรงเรียนได้มันก็ดี แต่ผมรู้สึกมันค่อนข้างยาก.

………………………………………….

5 มิ.ย. 52 / บ้านเพียงดิน แม่แตง เชียงใหม่

8 comments on ““ความสำคัญของการอ่านกับปัญหาการศึกษาไทย”

  1. fayjaa
    มิถุนายน 6, 2009

    ลุง สีตัวหนังสือปวดลูกกะตามากเลย

  2. imaim
    มิถุนายน 6, 2009

    โอเคจ้า…หลานฝ้าย
    ลุงแก้ไขตามคอมเมนท์เรียบร้อยแล้ว หวังว่าคงอ่านง่ายขึ้นเนอะ…

  3. ดิลล์
    มิถุนายน 11, 2009

    แท็งค์กิ้วสำหรับข่าวคราวขะรับท่านอิ่ม
    เที่ยวนี้อยู่แม่แตงยาวนะขอรับ

    • imaim
      มิถุนายน 11, 2009

      ตั้งใจว่าจะอยู่ยาวนะขอรับ เพราะอยากอยู่ที่บ้านทำอะไรที่ตั้งใจไว้ (มันมีเยอะ จนต้องทยอยทำ ไม่งั้นมันก็คงแค่ความหวังพื้นๆ) ตอนนี้เริ่มวางระบบการทำงานออนไลน์ที่กระท่อมเรียบร้อยแล้ว อีกนิดเดียวก็น่าจะเข้าที่นะขอรับ
      สาธุ!!! ขอให้มันอิ่มเอมอย่างใจหวังทีเถ้อะ…555 🙂

  4. ดิลล์
    มิถุนายน 14, 2009

    อา…นับเป็นข่าวดียิ่งยวด ทั้งการที่กลับมาจำพรรษายังกระท่อมอิ่มเอม และระบบงานออนไลน์ หวังท่านอิ่มดังใจเอมนะขอรับ

    เรียนถามเหตุและผลที่คิดยกกระต๊อบฟางหญ้าเคลื่อนย้ายจาก WP สักหน่อยเถิดขอรับ

    ข้าพเจ้าเองหากไม่ติดที่ WP เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ก็คิดจะปักใจรัก WP ไม่ไปไหน เพราะฟังก์ชั่นต่าง ๆ ครบเครื่องดีเหลือเกิน (ยิ่งลองไปใช้ WP.org ด้วยแล้ว ยิ่งเพลินทึ่ง) ยังตั้งใจไว้ว่าตัวหนังสือสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองวันใด ก็จะยอมจ่ายให้ WP เพื่อจะปรับแต่งดังใจ

    Blogger แม้นมาก่อน แต่ตอนนี้ล้าหลัง WP อยู่หลายช่วงตัว ปีนึงมานี้ทีมงานพัฒนาอะไรต่ออะไรหลายอย่าง แต่ดูเหมือนทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องที่ควรทำกลับไม่ทำ (ฟีดยังทำงานช้า โพสท์คอมเม้นต์วันนี้ดีไม่ดีโชว์พรุ่งนี้ ระบบกรอง spam ที่ยังล้าหลัง กล่องคอมเม้นท์มีปัญหา ที่เป็น PopUp นั้นช้า ที่เป็นใต้ข้อความ บางครั้งต้องคลิกซ้ำ ขณะ WP ไม่มีปัญหาพวกนี้เลย)

    อีกอย่างไม่สามารถโพสท์ภาพจากคอมพ์ผ่าน WLW ฟังก์ชั่นนี้ WP คล่องตัวมาก โพสท์ทั้งข้อความทั้งภาพไปจาก WLW ในครั้งเดียว ขณะที่ Blogger ต้องเปิดหน้า admin. โหลดภาพเข้าไปก่อน แล้วจึงเอาลิ้งก์มาใส่

    ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนหนักหนาสาหัสกับการใช้งาน เพียงยอมใจจำทนเพื่ออิสระที่จะปรับเปลี่ยนขนำตามใจสมัครรัก ผู้น้อยจึงปักขนำอยู่ชายป่า Blogger เยี่ยงนั้น

    ท่านอิ่มเล่าคิดเช่นไรจึงได้เตรียมละศิวิไลซ์ไปจับจองที่ทางชายป่าฝั่งโน่นเสียเล่าขะรับ? เรียนถาม..เรียนถาม..

    คารวะ

    ป.ล. ของพระคุณสำหรับลิ้งก์แหล่งภาพ เน็ตข้าพเจ้ามันช้าบรรพบุรุษเต่า เปิดไม่ขึ้นสักภาพ แต่อาจเป็นเพราะวันอาทิตย์ผู้คนใช้โทรฯ มาก เอาไว้วันธรรมดาจะลองอีกที

  5. ดิลล์
    มิถุนายน 15, 2009

    อิ่มเที่ยงตึงพุงสวัสดิ์ขะรับท่านอิ่มที่เคารพรัก

    ตอนเห็นรูปโลโกทั่น ข้าพเจ้าออกอาการตาหม้อไฟมาหน มาสำเหนียกโรดแมพพิมพ์เขียวครอบครัวท่านเข้าอีก

    ปากอ้าหูตั้งตาผึ่ง!
    (โดยเฉพาะหนมปังโฮมเมดนั่น)

    ภาพบล็อกสไตล์คันทรี่ มีเรื่องราวบอกเล่าความเป็นไปว่าด้วยวิถีธรรมชาติ ผุดขึ้นในหัวใจ จริงดังท่านว่า หากต้องการบล็อกที่เอาใจใส่บรรยากาศด้วย สมควรเป็นที่ Blogger

    หากหาไม่เจอธีมที่ถูกใจ ข้าพเจ้าอยากเสนอให้ใช้ภาพเราเองขอรับ แค่หาธีมที่ชอบโครงสร้าง (เอ่อ..เลเอ้าท์ไง) แล้วเอามาเปลี่ยนแบล็คกราวด์ ส่วน พื้นหน้าหลัก เฮดเดอร์ บอดี้ และ ฟุตเตอร์ ค้นหาง่าย ๆ โดยมากตรงที่มีลิ้งก์ภาพจะโผล่ยาวกว่าส่วนอื่น

    แต่หากท่านเปิดให้คุณแม่บ้าน

    Blogger ไม่เป็นชุมชนเหมือนที่อื่น โพสท์แต่ละครั้งไม่มีใครรู้เลยว่าเรามีเอ็นทรี่ใหม่ เว้นแต่สหายร่วมแนวนำฟีดไปแหมะไว้ที่บล็อก เขียนแล้วหากเงียบเสียงโต้ตอบเธออาจหมดสนุก เว้นแต่ (อีกที) เรามีสมัครพรรคพวก ตอกเสามุงหลังคาเสร็จก็ร่อนความไปทีว่า ‘นี่ตะเอง บ้านเราเสร็จแล้วนะ มากินขนมปังแกล้มชากัลล์ เป็นอันหมดห่วง

    ข้าพเจ้าชายตาติดตามเจ้า adsense มาเป็นระยะ ยามนั้นสรุปว่าเป็นเรื่องของคนทำบล็อกหาตังค์ (พวกเขาใช้เวลากับกลเม็ดต่าง ๆ เพื่อสร้างเงินโดยไม่เกิดผลผลิต)

    กระทั่งเดี๋ยวนี้มีโฆษณาภาษาไทยนับว่าใกล้ตัวสุด ๆ แล้ว แต่ยังสรุปให้ตัวเองว่า ไม่เหมาะกับบล็อกส่วนตัวที่อ่านกันเฉพาะสหายไม่กี่คน

    สมมุติวันใดข้าพเจ้าทำนิตยสารออนไลน์ติดลม มีคนอ่านประจำสักพันคน นั่นล่ะจะติดโฆษณาให้รอบ (รับรองว่าไม่ทำลายภูมิทัศน์) (แต่วันนั้นคงมาไม่ถึงแน่ ๆ )

    ยินดีที่ท่านเลือก Blogger ขอรับ แม้การใช้งานจะสู้ WP ไม่ได้ แต่ก็ยังมี Feed ให้ติดตาม คนไทยไปกระจุกกันที่ Ok เหมือนเข้าหมู่บ้านปิด ไม่มีฟีด จะแหมะคอมเม้นต์ก็ต้องลงทะเบียน ข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่าไปเป็นเครื่องมือให้เขาหารายได้จากโฆษณาโดยมีจำนวนประชากรเป็นเหยื่อล่อ (เพราะหากอ่านทางฟีด โฆษณาจะไม่มีผล กลยุทธ์การตลาดน่ะขะรับ)

    คิดแล้วยังคิดถึงท่านเพลง เธอเข้าไปในหมู่บ้านคึกคักนั่น เป็นอันหายต๋อม

    ข้าพเจ้าก็ก้มหน้าก้มตาเขียนนิยายอยู่กระต๊อบชายป่า ไม่มีคนผ่านไปมา นาน ๆ ทั่นอิ่มหิ้วชะลอมอักษรไปฝากที เป็นที่ประโลมใจนักแล้วขะรับ

    คารวะ

  6. imaim
    มิถุนายน 18, 2009

    อืม…ม อย่างนี้นี่เอง “ท่านดิลล์”
    ขอบพระคุณอย่างสูง ที่ท่านไขความกระจ่างในหลายเรื่อง ซึ่งก่อนหน้านั้นกระผมยังมีอาการงงๆ คล้ายอาการเมาค้าง 55

    เลื่อมใสๆ… คราวนี้ก็คงทำให้เข้าใจมากขึ้น จะได้ลงไม้ลงมือให้เต็มคราบแบบถูกทางซะที

    ว่าพลาง…ก็ขอตัวไปสะสาง ก่อนนะท่านดิลล์

    ยะฮู้!!!

    🙂

  7. what are Jayma Mays' measurements
    พฤษภาคม 11, 2011

    I love your wp design, wherever would you obtain it through?

ส่งความเห็นที่ what are Jayma Mays' measurements ยกเลิกการตอบ